โฮงเจ้าฟองคำ

โฮงเจ้าฟองคำ  เป็นบ้านของเจ้าฟองคำ ซึ่งมีเชื้อสายของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 62  โฮงเจ้าฟองคำมีอายุกว่า 200 ปี  เป็นบ้านไม้สักยกใต้ถุนสูง รูปแบบล้านนาโบราณ หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ประกอบด้วยเรือน 4 หลัง แบ่งเป็นห้องต่างๆ

  • ห้องนอน
  • ห้องรับแขก
  • ห้องครัว  

ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยนอกชานและทางเดิน  บันไดทางขึ้นบ้านอยู่ด้านหน้ามีหลังคาคลุม สำหรับไม้สักที่ใช้สร้างบ้านใช้วิธีการผ่าและซ้อมถากด้วยขวานและมีด การประกอบตัวบ้านใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้โดยใช้สลักไม้ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย(คุ้มเจ้า) ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยาม

 

ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตในอดีตและของโบราณที่มีคุณค่า เช่น เครื่องเงิน และผ้าทอ เป็นต้น  นอกจากนั้น  ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีชีวิต  ซึ่งมีส่วนอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาวน่าน  คือ การทอผ้าพื้นเมือง 

คำว่า “ โฮง ” เป็นคำพื้นเมืองล้านนา หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไท  

 

ประวัติโฮงเจ้าฟองคำ

ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิม คือ คุ้มของเจ้าศรีตุมมา (หลานเจ้ามหาวงศ์เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6) และอยู่ติดกับคุ้มแก้วซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ (เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 12) ย้ายกลับมายังเมืองน่านปัจจุบัน คุ้มแก้วจึงถูกทิ้งร้างไป หลังจากนั้น เจ้าบุญยืน (ธิดาคนสุดท้ายของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามะโน (หลานของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ) ได้ย้ายตัวโฮงลงมาสร้างในพื้นที่คุ้มของเจ้าศรีตุมมา หลังจากนั้นบ้านหลังนี้ได้ตกทอดมายังเจ้าฟองคำ (ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ) นางวิสิฐศรี (ธิดาคนสุดท้องของเจ้าฟองคำ) และนายมณฑล คงกระจ่าง ตามลำดับ  ตัวโฮงนี้ เมื่อย้ายมาจากคุ้มแก้วหลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (หรือไม้เกล็ด) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการรื้อและสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้กระเบื้องดินขอแทนแป้นเกล็ด และใช้วัสดุเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่เดิมนั้น ไม้ที่ถูกนำมาเป็นวัสดุสร้างตัวบ้านนั้นเป็นไม้สักที่ทำการผ่าและซ้อมถากด้วยขวานและมีด เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีเลื่อยขนาดใหญ่ ดังนั้น การประกอบตัวเรือนจึงไม่ได้ใช้ตะปู แต่จะใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้ โดยใช้สลักไม้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นร่องรอยที่มีเหลืออยู่ในส่วนต่าง ๆ ของตัวบ้าน

Visitors: 81,355