วัดภูมินทร์

เป็นวัดสวยงามอันดับต้นๆ แห่งเมืองน่าน ตั้งอยู่ที่ตำบลในเวียง ข้างๆ ข่วงเมืองน่าน เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายโดยช่างฝีมือล้านนาสวยงามมาก นอกจากนี้ฝาผนังยังแสดงถึงชีวิตและ วัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมาตามพงศาวดารของเมืองน่าน 

 

วัดภูมินทร์เป็นวัดหลวงเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปีที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองน่าน ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งนี้ประวัติการสร้างวัดภูมินทร์ตามพงศาวดารเมืองน่าน ได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นมา หลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2139 อีกทั้งยังมีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า วัดแห่งนี้เดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" และต่อมาในภายหลัง ชื่อวัดได้เพี้ยนไปกลายเป็นวัดภูมินทร์

 

สิ่งที่น่าสนใจในวัดภูมินทร์ ได้แก่

 

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่เรียกกันว่า "ฮูปแต้ม" ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงที่วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. 2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) และใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี โดยมีภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" อันลือเลื่อง ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นภาพงามเยี่ยมของวัดภูมินทร์ ทั้งยังได้รับฉายาว่า "ภาพกระซิบรักบรรลือโลก" นอกจากนี้ยังมีภาพน่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทลื้อ ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา "เป๊อะ" ของป่าบนศีรษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านที่แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมือง ภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 โดยทรงผมและเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

 

 

อาคารทรงจตุรมุข หนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้เป็นพระอุโบสถ

 

 

ธนบัตรใบละ 1 บาท ที่รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

Visitors: 69,590