วัดจองคำ จองกลาง

วัดจองคำ วัดจองกลาง เปรียบเสมือนวัดแฝด ด้วยตั้งอยู่ในกำแพงเดียวกัน เมื่อมองจากด้านหน้า วัดจองคำ จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนวัดจองกลางจะอยู่ทาง ขวามือ วัดจองคำ จองกลาง ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 โดยช่างฝีมือชาวไทยใหญ่เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ที่แปลกและงดงามมาก

 

วัดจองคำ จองกลาง เป็นวัดที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแม่ฮ่องสอน และปรากฏบนภาพถ่ายท่องเที่ยวของจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง ทั้งวัดจองคำและวัดจองกลางซึ่งอยู่ติดกันนั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองไทใหญ่เพราะนอกจากความงดงามทางศิลปะแล้ว วัดทั้งสองยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางวัฒนธรรม และประเพณีของชาวแม่ฮ่องสอน พื้นที่ด้านหน้าของวัดซึ่งเป็นสวนสาธารณะหนองจองคำ ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีตามประเพณีต่าง ๆ ในรอบปีอีกด้วย

 

สำหรับ วัดจองคำ หรือพระอารามหลวงวัดจองคำ ตั้งอยู่ข้าง "หนองจองคำ" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2340 และเป็นวัดแรกของเมืองแม่ฮ่องสอนที่มีความเก่าแก่และสร้างตามแบบอย่างศิลปะไทใหญ่ โดยมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมากมาย ไฮไลท์น่าชม เจดีย์วัดจองคำที่ชาวไทใหญ่เรียกกันว่า "กองมู" เจดีย์มีลักษณะคล้ายมณีทบ โดยช่างฝีมือชาวไทใหญ่รูปทรงจุฬามณี ความสูง 32 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน พร้อมสิงห์ด้านละหนึ่งตัว ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งด้านละหนึ่งองค์ และเริ่มสร้างเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 สร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2458 โดยศรัทธาขุนเพียร (พ่อเลี้ยงจองนุ) พิรุญกิจและแม่จองเฮือนคหบดี ชาวแม่ฮ่องสอนและในองค์พระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มานมัสการองค์พระเจดีย์

อุโบสถเป็นอาคารรูปทรงมณฑปรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 12 แมตร หลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กรูป พระเจดีย์ 5 ยอด ภายในเขียนภาพพุทธประวัติบนฝาผนัง บานประตู หน้าต่างทำด้วยไม้แกะสลัก พระประธานในอุโบสถนี้ ทางวัดได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2522 เบิกพระเนตรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2523 วิหารหลวงพ่อโตภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ "หลวงพ่อโต" สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยช่างชาวพม่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 ม. จำลองมาจากพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม วิหารแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ผสมฝรั่ง อาคารมีผังเป็นรูปตัวแอล ผนังก่ออิฐถือปูน ประตู หน้าต่างตอนบนโค้ง ประดับลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก หลังคามุงสังกะสี เชิงชายมีลูกไม้ฉลุแบบขนมปังขิง 

 

วัดจองกลาง ตั้งอยู่ข้างกับวัดจองคำ ภายในวิหารมีแท่นบูชาตั้งพระพุทธสิหิงค์จำลอง ปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ และยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปคนและสัตว์ ฝีมือแกะสลักของช่างชาวพม่า ซึ่งนำมาจากพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2400

 

 

 

วัดจองกลาง เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดจองคำ และวัดจองใหม่ (โรงเรียนพระปริยัติธรรม) เดิมเป็นศาลาที่พักคนมาจำศีลในวันพระ วัดจองกลางหลังนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เครือญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เดิมเป็นศาลาเย็นของวัดจองใหม่มีผู้คนท้องถิ่นมาพักอาศัยอยู่เป็นประจำ เมื่อเจ้าอาวาสวัดจองใหม่องค์สุดท้ายได้มรณภาพไป มีพระภิกษุจากเมืองหมอกใหม่มาร่วมงานศพเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ และเข้ามาพักอาศัยในศาลาเย็นดังกล่าว คณะศรัทธาเคารพนับถือพระภิกษุองค์นี้เป็นอย่างมาก จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาประจำศาลาต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2410 มีศรัทธาคือ ลุงจองจายหล่อ , ลุงพหะจ่า , ลุงจองตุ๊ก, และพ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) , ลุงจองจ่อ ได้ร่วมกันสร้างวัด หลังคามุงด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย แบบสถาปัตยกรรม โดยช่างฝีมือชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะห้องทางด้านหลังทิศตะวันออก ตามฝาผนังประดับภาพรวม 180 ภาพ โดยมีช่างฝีมือช่างพม่า ลุงจองตุ๊ก แม่จองโอ่ง นำมาจากเมืองมะละแหม่งประเทศพม่า มาติดถวายไว้ และเมื่อทำการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงตั้งชื่อว่า "วัดจองกลาง" เพราะอยู่ระหว่างวัดจองคำกับวัดจองใหม่ และปีต่อมาพ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) แม่จองเฮือน มีจิตศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยม มุขสี่ด้าน แต่ละด้านสร้างสิงห์ไว้ 1 ตัว พร้อมกับสร้างศาลาวิปัสสนาติดองค์พระธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกหลังคาทรงปราสาททำด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2545 ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กตรงข้ามทิศตะวันออกวัดจองกลาง ลุงจองตุ๊ก แม่จองโอ่ง เป็นเจ้าคณะศรัทธาสร้างขึ้น ก่อนวัดจองกลางประมาณ 20 กว่าปี (ไม่ปรากฏ พ.ศ. สร้าง) และวัดจองกลางรวมเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 โดยวัดจองกลางเป็นคณะ 2 ปัจจุบันมีพระภิกษุ 6 รูป และสามเณร 14 รูป  

 วัดจองกลาง เป็นวัดที่ชาวบ้านให้ความสำคัญมากเนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพระอุปคุตที่ประดิษฐานอยู่ที่ทางเข้าหน้าวัดจองกลางเชื่อกันว่าเมื่อมีการจัดงานเทศกาลหรือทำบุญต่าง ๆ จะต้องมีการบวงสรวงพระอุปคุตเสียก่อนเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและญาติพี่น้องจะทำให้เจริญก้าวหน้าและจะไม่เกิดอุบัติเหตุเพศภัยใด ๆ ทำให้ชีวิตราบรื่นจึงยึดถือและปฏิบัติต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

Visitors: 71,218